วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พริกซูปเปอร์ฮอท น้ำหยด

พันธู์พริกที่ปลูกในอำเภอขามสะแกแสง  จังหวัดนครราชสีมา


พริกซูปเปอร์ฮอท  น้ำหยด






พริกยอดสน



พริกจินดา

พริกจินดา






พริกขี้หนูสวน



ประวัติความเป็นมา ของ " พริก"

คนไทยรู้จักปลูกพริก และมีวิธีบริโภคพริกหลายรูปแบบ ทั้งในลักษณะสด แห้ง ดอง เผา และแกง และมักแบ่งพริกออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เผ็ดมาก ซึ่งได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูไทย และพริกเหลือง กับกลุ่มที่เผ็ดน้อย ซึ่งได้แก่ พริกหยวก พริกชี้ฟ้า และพริกฝรั่ง

ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับพริกดีเสียจนทำให้คิดไปว่า พริกเป็นพืชพื้นเมือง แต่นักประวัติพฤกษศาสตร์ได้พบว่า ถิ่นกำเนิดของพริกคือ ทวีปอเมริกากลาง และใต้ และจากที่นั่นนักผจญภัยก็ได้นำพริกมาปลูกเผยแพร่ในยุโรปแล้วจากยุโรปพริกก็ถูกนำไปปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก

หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ชาวอินเดียนใน Mexico รู้จักบริโภคพริกเป็นอาหารมานานร่วม 9,000 ปีแล้ว เพราะอุจจาระที่เป็นก้อนแข็งที่พบที่เมือง Huaca Prieta มีซากเมล็ดพริกที่มีอายุประมาณ 9,000 ปี การศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่า Olmec, Toltec และ Aztec ต่างก็แสดงให้รู้ว่า ชาวอินเดียนเหล่านี้รู้จักปลูกและบริโภคพริกเช่นกัน นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ยังได้ขุดพบซากของต้นพริกที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ในเทวสถานของเปรูด้วย หรือแม้แต่ลายปักเสื้อผ้าของคนอินเดียนที่อาศัยอยู่ในเปรู เมื่อ 1,900 ปีก่อน ก็มีลวดลายปักเป็นต้นพริก

ในปี 2036 นักประวัติศาสตร์ชื่อ Peter Martyr ได้รายงานว่า พริกแดงที่ Columbus นำมาจากอเมริกามีรสเผ็ด และแพทย์ที่ติดตาม Columbus ไปอเมริกาเป็นครั้งที่สองในปี 2037 ก็ได้กล่าวถึงชาวอินเดียนว่า นิยมปรุงอาหารด้วยพริก และเมื่อกองทัพสเปนบุกอาณาจักร Aztec นายพล Cortez ได้เขียนจดหมายเล่าว่า กษัตริย์ Aztec ทรงโปรดเสวยพระสุคนธรสที่มีพริกปน

คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของพริกคือ มีรสเผ็ด และการมีคุณสมบัติที่ดุเดือดรุนแรงนี้เองที่ทำให้ชาวอินเดียนนิยมใช้พริกทรมานเชลยหรือศัตรู เช่น เผาพริกปริมาณมากให้ควันพริกขับไล่ทหารสเปน ส่วนชาวMaya ก็มีประเพณีว่า ผู้หญิง Maya คนใดเวลาถูกจับได้ว่าแอบดูผู้ชาย จะถูกพริกขยี้ที่ตา และบิดามารดาของผู้หญิง Maya คนใดถ้ารู้ว่า บุตรสาวของตนเสียพรหมจรรย์อย่างผิดประเพณี "บริเวณลับ"ของเธอจะถูกละเลงด้วยพริก สำหรับชาวอินเดียนเผ่า Carib ใน Antilles นั้น ก็นิยมใช้พริกทาบาดแผลของเด็กผู้ชายเพื่อฝึกให้อดทน และเวลาจับเชลยได้ ชาวอินเดียนเผ่านี้ก็จะใช้ไฟจี้ตามตัวจนเป็นแผลพุพองแล้วเอาพริกทา และเมื่อเชลยเสียชีวิตลงเนื้อของเชลยก็จะถูกแล่เอาไปปรุงด้วยพริกเป็นอาหาร เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์ชื่อ Francisco Hernandez ซึ่งเป็นแพทย์ในกษัตริย์ Philip ที่ 2 แห่งสเปน และได้เคยถูกส่งตัวไปศึกษาธรรมชาติของพืชและสัตว์ในดินแดนใหม่ (อเมริกา) ก็ได้รายงานกลับมาว่า ชาวอินเดียนนิยมปลูกพริกมาก ส่วน P. Bernabe Cobo ผู้ใช้เวลาสำรวจอเมริกานาน 50 ปี ในศตวรรษที่ 20-21 ก็ได้รายงานทำนองเดียวกันว่า ชาวอินเดียนในเม็กซิโกนิยมปลูกพริก โดยได้เขียนลงในหนังสือHistoria ว่า ชาวอินเดียนถือว่าพริกเป็นพืชที่สำคัญรองจากข้าวโพด เพราะชอบบริโภคพริกสด และใช้พริกในพิธีสักการะบูชาเทพเจ้าทุกงาน แต่เมื่อถึงเทศกาลอดอาหาร คนอินเดียนเหล่านี้จะไม่บริโภคอาหารที่มีพริกปนเลย Cobo ยังกล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแต่ผลพริกเท่านั้นที่เป็นอาหาร แม้แต่ใบพริกก็ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ด้วย และสำหรับ Garcilaso de la Vega ผู้เป็นบุตรของขุนนางสเปนนั้น ก็ได้เล่าว่า ชาวอินคาถือว่าพริกเป็นผลไม้ที่มีคุณค่ามาก เพราะอาหารอินคาจะมีพริกปนไม่มากก็น้อย นอกจากนี้หมอชาวบ้านของชนเผ่านี้ก็มีความรู้อีกว่า ใครก็ตามที่บริโภคพริกในปริมาณที่พอดี ระบบขับถ่ายของคนคนนั้นจะทำงานปกติ แต่ถ้าบริโภคมากเกินไป กระเพาะจะเป็นอันตราย Alexander von Humboldt นักปราชญ์ชาวเยอรมันก็เป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ได้เดินทางไปสำรวจทวีปอเมริกาเป็นเวลานานหลายปี และได้เปรียบเทียบความสำคัญของพริกว่าคนยุโรปถือว่า เกลือมีความสำคัญต่อชีวิตเพียงใด คนอินเดียนก็ถือว่าพริกมีความสำคัญต่อเขาเพียงนั้น

การศึกษาประวัติการเดินทางของพริกจากทวีปอเมริกาสู่โลกภายนอก ทำให้เรารู้ว่า Alvarez Chancaชาวสเปนเป็นบุคคลแรกที่นำพริกสู่ประเทศตน ในปี 2036 และคนสเปนเรียกพริกว่า Chili ซึ่งเป็นคำที่แปลงมาจากคำ Chile อันเป็นชื่อของประเทศที่ให้กำเนิดพริกในอเมริกาใต้ และอีก 55 ปีต่อมา ชาวอังกฤษก็เริ่มรู้จักพริก เมื่อถึงปี 2098 บรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปกลางก็เริ่มรู้จักปลูกพริกกันแล้ว และเมื่อถึงปี 2300 พ่อค้าชาวโปรตุเกสก็ได้นำพริกจากยุโรปไปปลูกในอินเดีย และเอเชียอาคเนย์

นักชีววิทยาจัดพริกอยู่ในวงศ์ Solanaceae ซึ่งเป็นวงศ์ของมะเขือเทศ มันฝรั่ง และยาสูบ และให้พริกอยู่ในสกุล Capsicum ซึ่งมาจากคำว่า Kapto ที่แปลว่า กัดกร่อน แต่นักภาษาศาสตร์บางคนคิดว่า รากศัพท์ที่แท้จริงของคำคำนี้คือ capsa ซึ่งแปลว่า กล่อง ถึงความคิดเห็นเรื่องที่มาของชื่อจะแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ยอมรับในประเด็นเดียวกันว่า พริกมีรสเผ็ด แม้แต่ชาว Maya ก็เรียกพริกว่า Huuyub ซึ่งแปลว่า สูดปาก หลังจากที่ได้กินพริกเข้าไป การศึกษาคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาของพริก ทำให้เรารู้ว่าแพทย์ในอดีตเคยใช้พริกเป็นยารักษานานาโรค เช่น โรคบวม เสียดท้อง ปวดท้อง อาเจียน อหิวาต์ อาหารไม่ย่อย ปวดหัว ปวดประสาท ปวดตามข้อ ท้องร่วง กระเพาะอักเสบ แก้เมาคลื่น โรคหวัด ลดน้ำมูก ป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการไขมันอุดตันของเส้นเลือด ลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง บรรเทาอาการปวด ทำให้มีอารมณ์ดี และใช้เป็นยาไล่แมลงก็ยังได้ด้วย

ส่วนนักโภชนาการได้พบว่า พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และพริกหวานต่างก็มีวิตามิน C เช่น ในเนื้อพริก 100กรัม จะมีวิตามิน C ตั้งแต่ 87-90 มิลลิกรัม และมี betacarotene (หรือวิตามิน A) ซึ่งช่วยให้สายตาดีด้วย

นักชีวเคมีได้วิเคราะห์พบว่า รสเผ็ดของพริกเกิดจากสาร capsicin ที่แฝงอยู่ในบริเวณรก (placenta)ของผล แต่ไม่อยู่ในเนื้อและเปลือกพริก การวิเคราะห์โครงสร้างเคมีของ capsicin ทำให้รู้ว่ามันมีชื่อ8-methyl-n-vanillyl-6-noneamide ซึ่งมีสูตร C18 H23 NO3 มีน้ำหนักโมเลกุล 305.46 มีจุดหลอมเหลว 65 องศาเซลเซียส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้เล็กน้อย และละลายในไขมัน น้ำมัน และแอลกอฮอล์ได้ดี นอกจากนี้มันยังมีสมบัติทนความร้อน ความเย็นได้ดีด้วย ดังนั้น การต้มหรือการแช่แข็งจะไม่ทำให้พริกเผ็ดน้อยลงหรือมากขึ้นแต่อย่างใด และถ้าต้องการจะแก้รสเผ็ด ผู้สันทัดกรณีแนะนำว่า น้ำหรือเบียร์ก็พอช่วยได้บ้าง แต่ถ้าจะให้ดีให้กินอาหารที่มีไขมัน หรือเครื่องดื่มที่มี ethonol มาก ก็จะช่วยได้ดีขึ้น และถ้าพริกมีรสขม นั่นก็เพราะคนกินได้เคี้ยวเมล็ดพริกครับ

ที่มา : http://blog.eduzones.com/sippa/274



การปลูกพริก
พริกจัดว่าเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย  เพราะในชีวิตประจำวันของคนไทย  สามารถจะกล่าวได้ว่าทุกครอบครัว  ทุกคนจะต้องใช้พริกในการประกอบอาหารนอกจากนั้นยังนำไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรมได้  คือ  ซอสพริก  และยังนำไปประกอบอาหารให้มีรสเผ็ดซึ่งคนไทยจะขาดเสียมิได้

                การปลูกพริกในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี  ถ้ามีน้ำอุดมสมบูรณ์  หรือปลูกในฤดูฝนก็ได้  พริกสามารถปลูกได้ทุกภาคทุกจังหวัด  ทั้งนี้เนื่องจากพริกมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาและมีการแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ  ของโลก  จังหวัดที่ปลูกพริกกันเป็นพื้นที่มาก  ได้แก่  กาญจนบุรี,  ประจวบฯ,  เพชรบุรี,  สมุทรสาครสุโขทัย,  สุพรรณบุรี,  เชียงราย,  น่าน,  ลำปาง,  เชียงใหม่  ฯลฯ  พริกที่ปลูกกันได้แก่ พริกบางช้าง,  พริกสันป่าตอง,  พริกชี้ฟ้า,  พริกขี้หนูเม็ดใหญ่  เป็นต้น

การปลูก
                การปลูกพริก  อาจเลือกปฏิบัติได้  3  วิธี  ตามความเหมาะสม  คือ 
                1.  โดยวิธีการใช้เมล็ดพริกหยอดเมล็ดโดยตรงในหลุม  หลุมละ  3-5  เมล็ด  เมล็ดพริกหวานเปอร์เซ็นต์ความงอก  80% ใช้เมล็ด  60-90  กรัม/ไร่  นิยมปฎิบัติในแปลงปลูกขนาดใหญ่  และไม่มีแรงงานเพียงพอในการย้ายต้นกล้า  จุดอ่อนของการปลูกโดยวิธีนี้คือ ต้นพริกอ่อนแอ  อาจจะถูกมดและแมลงอื่น ๆ  กัดกินใบ  ทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์  และเสียเวลาในการปลูกซ่อม

                2.  เพาะเมล็ดพริกให้งอกแล้วนำไปปลูกในหลุม  กลบด้วยดินบาง ๆ  วิธีเพาะคือ นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำ  แล้วเอาผ้าชุบน้ำหมาด ๆ  ห่อ  ทิ้งไว้ประมาณ  2  วัน  เมล็ดจะงอกแล้วนำไปปลูก

                3.  เพาะเมล็ดในแปลงเพาะก่อน  แปลงเพาะกล้าควรใส่ปุ๋ย  15-15-15  ปริมาณ 100  กรัมต่อตารางเมตร  คลุกดินลึกประมาณ  5-8  นิ้ว  ควรใช้ฟูราดานในการเพาะด้วยเมื่อหว่านเมล็ดแล้วประมาณ  10  วัน  เมล็ดเริ่มงอก  ถ้ามีต้นหนาแน่น  ให้ถอนแยกหลังจากที่ใบจริงคลี่เต็มที่แล้ว        2-3  วัน  เมื่อกล้าอายุได้  18  วัน  รดด้วยปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตละลายน้ำ  อัตราส่วน  1  กรัมต่อน้ำ  200  ซีซี.  แล้วรดน้ำตามทันที  การเพาะโดยวิธีเพาะโดยเมล็ดธรรมดาที่ยังไม่งอกวิธีนี้ควรคลุกยาป้องกันกำจัดเชื้อราที่อาจติดมากับเมล็ดก่อนนำเมล็ดไปเพาะได้แก่  ออไธไซด์  และในแปลงเพาะควรจะรดด้วยไดโฟลาแทน  80  หรือไดเทน  เอ็ม  45  เพื่อป้องกันโรคเน่า
                เมื่อกล้าสูงประมาณ  6  นิ้ว  จึงพร้อมจะย้ายปลูกได้ รวมอายุกล้าในแปลงเพาะสำหรับการเพาะโดยเมล็ดที่งอกแล้วประมาณ  30  วัน  และเพาะโดยเมล็ดธรรมดาประมาณ  40  วัน
                ในบางแห่งปลูกโดยการย้ายกล้า  2  ครั้ง  ทั้งนี้เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ทนทานและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น  โดยทำการย้ายกล้าครั้งที่  1  เมื่อกล้าโตมีใบจริง  2 ใบ  ย้ายชำในถุงพลาสติกหรือในแปลงใหม่ให้มีระยะห่าง  10-15  ซม.  ในการย้ายกล้านี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง  พยายามให้รากติดต้นมากที่สุดก่อนย้ายปลูกในแปลงใหม่  ควรจะรดน้ำแปลงเพาะให้ชุ่ม  ทิ้งไว้      1  ชม.  แล้วใช้ไม้หรือปลายมีดพรวนดินให้ร่วน   ค่อย ๆ ถอนต้นกล้า  อายุในการชำในแปลงใหม่  15-20  วัน  หรือสูงประมาณ  6  นิ้ว  จึงย้ายปลูกได้  เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง  ทนทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม  ทำได้โดยการฉีดพ่นสารละลายของน้ำตาลเข้มขน  10%  คือใช้น้ำตาลทราย  10  ส่วน  เติมน้ำลงไปอีก  90 ส่วน  ฉีดทุก ๆ  3  วัน  เป็นเวลา  2  อาทิตย์ก่อนย้ายปลูก  ก่อนทำการฉีดสารละลายน้ำตาลทรายนี้ต้องทำให้ใบพริกเปียกน้ำให้ทั่ว  เพื่อให้ใบดูดซึมน้ำตาลได้เป็นปริมาณสูง
การเตรียมดิน
                ทำการย้ายปลูก  เมื่อกล้าสูงประมาณ  6  นิ้ว  เตรียมดินแปลงปลูก  โดยไถดะตากดินทิ้งไว้ประมาณ  5-7  วัน  ไถพรวน  1  ครั้ง  หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลงในอัตรา         3-4  ตัน/ไร่  ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์  สูตร  15-15-15  อัตรา  50  กก./ไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่ปลูก  แล้วพรวนกลบเข้ากับดินแล้วจึงเตรียมแปลงปลูกการเตรียมแปลงปลูก  สามารถทำได้หลายแบบ  แล้วแต่สภาพของพื้นที่ปลูกดังนี้คือ
                1.  ปลูกแบบไม่ยกแปลง  เหมาะสำหรับพื้นที่ ๆ  มีการระบายน้ำดี  ปรับระดับได้สม่ำเสมอ  การปลูกแบบนี้อาจปลูกเป็นแถวเดียว  ใช้ระยะห่างระหว่างแถว  60-70  ซม. ระหว่างต้น  50  ซม.  หรือปลูกเป็นแถวคู่  ระยะระหว่างแถวคู่  1  เมตร  ระหว่างแถว  50 ซม.  ระหว่างต้น  50  ซม.
                2.  ปลูกแบบยกแปลง  เหมาะสำหรับพื้นที่ปลูกที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง  ระบายน้ำดอกได้ยาก  ขนาดแปลงกว้าง  1.50  เมตร  ร่องน้ำกว้าง  50  ซม.  ลึก  50  ซม.  ปลูก  2 แถว  บนแปลง  โดยมีระยะห่างแถว  0.75-1.00  เมตร  ระหว่างต้น  50  ซม.  หรือปลูกเป็นแถวคู่  1  เมตร  ระหว่างแถว  50  ซม.  ระหว่างต้น  50  ซม.

การปฎิบัติบำรุงรักษา
                พริกเป็นพืชที่ทนแล้งดีกว่าทนน้ำ  แต่ในระยะที่พริกเริ่มออกดอก  พริกจะต้องการน้ำมากกว่าปกติ  พบว่า  การให้น้ำที่ไม่เพียงพอ  และอากาศแห้งแล้งจะทำให้ดอกอ่อน  ดอกบาน  และผลอ่อนที่เพิ่งติดร่วงได้  ในสภาพที่อากาศค่อนข้างเย็น  อุณหภูมิประมาณ  10-15  ซํ.   จะทำให้พริกเจริญเติบโตไม่ค่อยดี  มีการติดดอกต่ำ  และดอกร่วงในที่สุด  การให้น้ำควรจะลดลง  หรืองดในช่วงที่เริ่มทำการเก็บผลพริก  ทั้งนี้เพราะถ้าให้น้ำพริกมากไป  จะทำให้ผลมีสีไม่สวย

                1.  การให้น้ำ   หลังจากปลูกสร้าง  ควรให้น้ำดังนี้
                     -  ช่วง  3  วันแรก  ให้น้ำวันละ  2  ครั้ง  เช้า  เย็น
                     -  ช่วง  4  วันต่อมา  ให้น้ำวันละครั้ง
                     -  ช่วงสัปดาห์ที่  2  ถึงสัปดาห์ที่  4  ให้น้ำสัปดาห์ละ  3  ครั้ง
                     -  ช่วงสัปดาห์ที่  5  ถึงสัปดาห์ที่  7  ให้น้ำสัปดาห์ละ  2  ครั้ง
     -  ช่วงสัปดาห์ที่  7  ไปแล้วให้น้ำสัปดาห์ละ  1  ครั้ง  ทั้งนี้  การให้น้ำแก่พริกควรให้ตาม สภาพพื้นที่  และดูความชุ่มชื้นของดินประกอบด้วย

2. การใส่ปุ๋ย  การให้ปุ๋ยพริกขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของดินปลูกโดยทั่วไป  ปุ๋ยคอก  อัตรา  3-4  ตันต่อไร่  ผสมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์  15-15-15    อัตรา  50  กก.ต่อไร่  รองพื้นก่อนย้ายปลูกและหลังย้ายปลูกแล้ว  1  เดือน  จึงใส่ปุ๋ยสูตร  15-15-15  ในอัตรา  50 กก.ต่อไร่  อีกครั้งหนึ่ง  วิธีใส่โดยโรยกึ่งกลางระหว่างแถวปลูกแล้วพรวนกลบ  ในระยะนี้เป็นระยะที่พริกเริ่มจะมีตาดอก  (แต่ยังไม่ออกดอก)  มีความต้องการธาตุอาหารเสริมบ้าง ดังนั้นหลังจากใส่ปุ๋ยแล้ว  1-2  อาทิตย์  ควรฉีดปุ๋ยน้ำ  เช่น  ไบโฟลาน  ให้ทางใบ  ซึ่งพริกจะนำไปใช้ได้เร็วขึ้น  ปุ๋ยน้ำที่ฉีดให้ทางใบนี้ควรให้ทุกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยว  โดยฉีดผสมไปกับยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช

3. การพรวนดิน   เนื่องจากพริกจะแพร่รากกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน  จึงต้องระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน  เพราะจะชงักการเจริญเติบโต  จะทำให้ต้นพริกโค่นล้มง่าย  การให้ปุ๋ยควรขุดหลุมตามบริเวณกว้างของใบพริกที่แผ่ไปถึง  อย่าใส่ชิดโคนต้น

4.  การเก็บเกี่ยว   พริกจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากย้ายปลูกแล้ว  2  เดือนครึ่ง  ถึง  3 เดือน  ในระยะแรกผลผลิตจะได้น้อยและจะค่อย ๆ  เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  เก็บเกี่ยวอาทิตย์ละ  1  ครั้งผลผลิตจะเริ่มลดลงเมื่อพริกเริ่มแก่  เมื่อพริกอายุได้  6-7  เดือน  หลังย้ายปลูกต้นจะเริ่มโทรมและหยุดให้ผลผลิต  แต่ถ้ามีการดูแลบำรุงรักษาดีพริกจะมีอายุถึง  1  ปี

5.  การเก็บรักษา  ผลพริกเมื่อแก่จัด  จะยังคงทิ้งให้อยู่กับต้นได้อีกชั่วระยะหนึ่ง โดยไม่เสื่อมคุณภาพแต่ประการใด  การเก็บรักษาพริกให้คงสภาพสดอยู่ได้  ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ  พบว่าอุณหภูมิ  0  ซํ.  ความขึ้น  95-89%  จะเก็บพริกให้คงความสดอยู่ได้นานถึง 40  วัน  โดยมีผลเหี่ยวย่นเพียง  4%  ซึ่งนับว่า  ต่ำมาก  เมื่อเทียบกับการเก็บพืชผักหลายชนิด  และอุณหภูมิ  8-10  ซํ.  ความชื้น  85-90%  จะเก็บพริกสดไว้ได้นาน  8-10  วัน

6.  การทำพริกตามแห้ง   พริกที่จะนำมาตากแห้งต้องเก็บผลแก่จัด  มีสีแดง  ถ้าเก็บมาแล้วมีบางผลที่ยังไม่แก่ควรนำมาสุ่มไว้ในเข่งประมาณ  2  ค้น  เพื่อบ่มให้ผลสุกแดง แล้วจึงนำออกตากแดดให้แห้งสนิท  ควรเลือกผลที่เน่าออกทิ้งอยู่เสมอ   ข้อควรระวังบอย่าให้พริกที่ต้องการทำพริกแห้งถูกฝน  จะทำให้เกิดโรครา  ราคาตกได้กสิกรบางแห่งนิยมย่างไฟ  โดยการย่างพริกไว้บนแผงหรือตะแกรงแล้วสุมไฟข้างล่าง  คอยหมานกลับพริกให้แห้งทั่วกัน  จะทำให้พริกแห้งเร็วขึ้น  เก็บไว้ได้นานไม่เสียง่าย

การเก็บพริกไว้ทำพันธุ์
                ควรเลือกผลจากต้นที่แข็งแรงและดก ลักษณะผลโตได้ขนาด  รูปร่างดี  ตรง  ยาวไม่หงิกงอ  ผิดรูปทรง  มีลักษณะตรงตามพันธุ์  และไม่เป็นโรค  ควรเลือกผลสำหรับเก็บไว้ทำพันธุ์  จากการเก็บรุ่นที่  3  ทั้งนี้เพราะมีจำนวนเมล็ดมาก  และขนาดของเมล็ดใหญ่สมบูรณ์  เก็บรักษาผลที่เหลือได้ไว้คาต้นจนสุกเต็มที่  จากนั้นนำมาเก็บบ่อไว้ในภาชนะ เช่น  กระบุง  ประมาณ  2  คืน  จนเนื้อนุ่มแล้ว  ใช้มีดกรีดให้ผลแตก  เคาะเมล็ดออกล้างน้ำสะอาด  แล้วนำไปเกลี่ยบนตะแกรงหรือกระด้ง  ตากแดดให้แห้งสนิทใส่ถุงพลาสติกหรือขวดสะอาด  ปิดผาให้แน่น เก็บไว้ในที่มีอากาศแห้ง  และเย็นอย่าไว้ใกล้เตาไฟ  หรืออยู่ในที่แดดส่องอยู่
โรคพริก  และการป้องกันกำจัด

ชื่อโรค     โรคกล้าเน่าตาย

อาการ       อาการทั่วไปที่เห็นคือต้นกล้าเหี่ยวแห้งตาย

การป้องกัน   
 1. คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา  หลังจากล้างเมล็ดพันธุ์แล้วควรจะคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา  เช่น  ไดเทน  เอ็ม  45  ชนิดสีแดง  เพื่อป้องกันเชื้อราในดินเข้าทำอันตรายเมล็ดในขณะที่มีการงอก
2.  เมื่อต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดินแล้ว  ต้องรีบฉีดยาป้องกันทันทีและจะต้องฉีดพ่นยาทุก  5-7  วันต่อครั้ง  ยาที่ใช้ฉีดพ่นก็เป็นจำพวกยาป้องกันกำจัดเชื้อราทั่ว ๆ  ไป  ที่ใช้ฉีดพ่นบนใบ  เช่น  ชิงโคโฟล ไดเทนเอ็ม  45  ฯลฯ  นอกจากนี้ควรฉีดพ่นยาลงไปบนผิวดินด้วยยาที่ใช้ฉีดพ่นไม่ควรใช้ยาที่เป็นสารประกอบพวกทองแดง